ไอคิโด อะไรที่มากกว่าศิลปะป้องกันตัว

  • เมษายน 7, 2013

ไอคิโด อะไรที่มากกว่าศิลปะป้องกันตัว


 

อาจารย์ โมโตฮิโร ฟูคาคูซา (MotohiroFukakusa)
นายกสมาคมไอคิโดแห่งประเทศไทย

 

การฝึกไอคิโด (AIKIDO) นอกจากจะได้เรียนรู้ฝึกการป้องกันตัวจากการถูกกระทำในรูปแบบต่างๆ แล้วยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีงามในระหว่างผู้ฝึกทุกคน เสริมสร้างพื้นฐานของความรักและความปรารถนาดีต่อมวลมนุษย์ อันเป็นผลให้ทุกคนในโลกมีความสามัคคีต่อกัน ดั่งที่ท่านปรมาจารย์ โมริเฮอิ อุเอชิบะ (MoriheiUeshiba) ได้กล่าวไว้ว่า ไอคิโดนั้น มิใช่ศิลปะศาสตร์ที่ใช้เพื่อต่อสู้ทำร้ายหรือเอาแพ้ เอาชนะซึ่งกันและกัน ไอคิโด เป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเรียกได้ว่าเป็น “ครอบครัวของมวลมนุษย์” นั่นเอง

 

ไอคิโด เมื่อแยกแต่ละคำออกมาแล้ว จะมีความหมายดังนี้

 

ไอ “AI” หมายถึง การประสานสัมพันธ์ หรือความกลมเกลียว ปรองดอง
คิ “KI” หมายถึง พลังงานทางจิต หรือพลังภายใน
โด“DO” หมายถึง วิถีทาง หรือ หนทาง

 

โดยรวมแล้ว ไอคิโด หมายถึง วิถีทางการประสานสัมพันธ์ของพลังจิต กับการแสดงออกของความสามารถทางกายให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเองผู้ฝึกศิลปะศาสตร์ (บูโด BUDO) ควรฝึกจิตสำนึก ให้มีสติในการดำเนินชีวิต KINO TSUKAIKATA(คะ โนะ ทซึ ไก คะ ดะ), ฝึกการต่อสู้กับตนเอง AGAKATSU (อะ กงะ กะ ทซึ), ฝึกการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง MASAKATSU (มะ ซะกงะ ทซึ)

 

ความหมาย KINO TSUKAIKATA(คะ โนะ ทซึ ไก คะ ดะ) คือวิธีการฝึกจิต ด้วยการใช้สติไตร่ตรอง หรือมีสติกำกับในการดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง ตัวอย่างที่เห็นได้เป็นประจำ คือ การฝึกของสมาธิที่ DOJO (โดโจ)ก่อนขึ้นเบาะ สมาชิกต้องแต่งกายให้เหมาะสม ทำใจให้นิ่ง ต้องพร้อมที่จะจัดแถวเพื่อทำความเคารพ ในขณะที่ฝึกสมาธิสมาชิกต้องทุ่มเทสมาธิทั้งหมดต่อการฝึกฝน ใส่ใจทุกคำพูดที่อาจารย์สอน เอาใจใส่ทุกขั้นตอนที่อาจารย์สาธิตให้ดู และจับคู่อย่างมีระเบียบโดยใช้ร่างกายผสมผสานเข้ากับการฝึกอย่างมีสมาธิ เพื่อให้การฝึกดำเนินไปอย่างราบรื่น เกิดความปลอดภัยแก่ตนเอง ผู้ฝึกและสมาชิกอื่นๆ ที่ร่วมฝึกด้วยกันตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้นการฝึก

 

ส่วนการใช้ KINO TSUKAIKATA(คะ โนะ ทซึ ไก คะ ดะ) กับการงานที่ทำในชีวิตประจำวันก็ทำนองเดียวกัน เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจสำหรับงานที่จะทำ มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะตื่นกี่โมง เดินทางอย่างไร ให้ไปถึงที่ทำงานทันเวลา เมื่อไปถึงที่ทำงานก็ยิ้มแย้มทักทายเพื่อนร่วมงานตามความเหมาะสม จากนั้นลงมือทำงานตามความรับผิดชอบ หรือตามที่ได้รับมอบหมายตามขั้นตอนด้วยความเอาใจใส่ นอกจากนั้นยังต้องคอยประสานประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานด้วยความสามัคคี

 

ความหมายของ AGAKATSU (อะ กงะ กะ ทซึ) คือการต่อสู้กับตัวเอง ตัวอย่างของ AGAKATSU เช่นตอนที่เราเริ่มฝึกไอคิโดใหม่ๆ เราต้องเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ ซึ่งมักจะมีปัญหาต่างๆ สำหรับผู้ฝึกใหม่ เช่น จำชื่อท่าภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ จำเทคนิคแต่ละท่าไม่ได้ การเคลื่อนไหวทั้งมือและเท้าไม่สัมพันธ์กัน การล้มที่ผิด ทำให้บาดเจ็บ และถึงแม้พยายามสักเท่าไหร่ก็เล่นไม่ได้ดี  ปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนเลิกฝึกไป ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องต่อสู้กับตนเองโดยเอาใจใส่กับการฝึก สังเกต และจดจำการฝึกอย่างถูกต้องและระมัดระวัง ฝึกพื้นฐานทุกวัน เพื่อให้เกิดความชำนาญ พยายามให้มากขึ้น และอดทนต่อการฝึก อย่าท้อแท้เพราะศัตรูที่แท้จริง คือตัวเรานั่นเอง สิ่งสำคัญ คือ จิตใจต้องควบคุมร่างกาย เพื่อเอาชนะตัวเอง และทำสิ่งต่างๆ อย่างมีสติและถูกต้อง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราก็จะชนะอุปสรรค และสนุกสนานกับการฝึก

 

ความหมายของ MASAKATSU (มะ ซะกงะ ทซึ) คือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่บุคคลในสังคมกระทำสิ่งที่อาจเป็นอันตราย หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพบเห็นเด็กผู้หญิง หรือผู้ที่อ่อนแอกว่าถูกรังแก ถูกเอาเปรียบแล้วเราปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นดำเนินต่อไป โดยถือว่าไม่ใช่เรื่องของเรา เท่ากับเราปล่อยให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบุคคลนั้นก็จะก่อปัญหา และเป็นอันตรายต่อสังคมมากขึ้น เมื่อเราพบเห็นสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น เราควรหาวิธีทางช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ โดยการขัดขวางวิธีการใดๆ ที่เหมาะสม นั่นคือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

 

ผู้ฝึกศิลปศาสตร์ เมื่อมี KINO TSUKAIKATA(คะ โนะ ทซึ ไก คะ ดะ), AGAKATSU (อะ กงะ กะ ทซึ)อยู่ในจิตสำนึกแล้ว นอกจากจะเกิดผลดีต่อตนเองอย่างมากแล้ว ยังก่อให้เกิดความสามัคคีหมู่คณะ เป็นผลให้กิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุขทุกๆ คน
ท้ายนี้ ดิฉัน ในฐานะครูฝึกศิลปะป้องกันตัวไอคิโด ประจำสมาคมไอคิโด ประเทศไทย ใคร่ขอผู้มีส่วนร่วมในการพิจารณา ช่วยส่งเสริมให้วิชาไอคิโดนี้เป็นส่วนในการสร้างบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงาน, สังคม และประเทศชาติต่อไป

 

บทความเอื้อเฟิ้อโดย อ.สุวรรณี แพขาว (ครูฝึก สมาคมไอคิโด้ ประเทศไทย)