บทความ: ด้วยหน้าที่ชีวิตรับผิดชอบ

  • เมษายน 7, 2013

ด้วยหน้าที่ชีวิตรับผิดชอบ


 

นับตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นรอบใหม่จากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกำลังพลทั้งตำรวจ และทหารทุกกองทัพภาคถูกส่งกระจายลงตามพื้นที่ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

 

จุดเริ่มต้นของการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร เข้าประจำการในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2549 เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบสังหาร และเผาบ้านชาวไทยพุทธที่หมู่บ้านสันติ 2 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา มีคนแก่และเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงครั้งนั้น ทำให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านไปรวมตัวกันอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวบ้านหมู่บ้านสันติ 2 ทรงมีรับสั่งให้ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ดูแลคุ้มครองชาวบ้านให้กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมให้ได้

 

จึงเป็นที่มาของคำสั่งจากฝ่ายยุทธการให้ พลร่ม ตชด.ค่ายนเรศวร 2 หมวด จำนวนประมาณ 60 นายเข้าประจำการในพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาจากกองบัญชาการสนับสนุนทางอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวรควบคุมอำนวยการจัดวางกำลัง ตชด.ในพื้นที่ หาที่ตั้งฐานปฏิบัติการ จัดทำเสาธงชาติ และเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสา เป็นสัญญลักษณ์และปลุกขวัญกำลังใจให้ ตชด.ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ พร้อมกับประกาศว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อันตราย ต้องสถาปนาอำนาจรัฐให้ใช้ได้จริง

 

เดือนมกราคม 2550 มีการเสริมกำลังพลร่ม ตชด.ค่ายนเรศวร จำนวน 200 นาย กระจายลงปฏิบัติการในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ของตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้แก่ หมู่บ้านสันติ 2 หมู่บ้านฉลองชัย หมู่บ้านภักดี หมู่บ้านสายสุราษฎร์ หมู่บ้านเขาน้ำตก หมู่บ้านตาเอียด และหมู่บ้านหาดทราย

 

ในเวลาต่อมามีการขยายฐานปฎิบัติการของพลร่มค่ายนเรศวรให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพราะภูมิประเทศในบริเวณนั้นเป็นภูเขาสูงชัน คดเคี้ยวไปมา เป็นชัยภูมิที่เสี่ยงต่อการถูกซุ่มโจมตี ฐานปฎิบัติการใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นมา เช่น ฐานธรณิศ ศรีสุข ตรงบริเวณที่เรียกว่า เนิน 9 ศพ เป็นที่ระลึกถึงผู้กองแคน ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข ที่เสียชีวิตจากการถูกซุ่มโจมตีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2550 หลังวันเกิดครบรอบ 30 ปี เพียงวันเดียว

 

ฐานปฎิบัติการบุญลือ ถูกสร้างเพื่อรำลึกถึงหมวดตี้ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ ที่ถูกซุ่มโจมตี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดของผู้หมวดหนุ่มจบใหม่คนนี้

 

ขณะนั้นวีรกรรมของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรเป็นที่กล่าวขานอย่างมาก ทำให้ผู้บังคับบัญชา และประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสำคัญกับ ตำรวจ ทหารในพื้นที่มากขึ้น ท่ามกลางความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ การทำงานของหน่วยต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบก็ดำเนินต่อไป

เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท ผู้บังคับหมวดกองร้อยรบพิเศษ 4 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ประจำการอยู่ที่ฐานปฎิบัติการบ้านกลางดูแลชาวบ้านประมาณ 70 หลังคาเรือน ช่วงที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่เมื่อปี 2550 ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็ทยอยเดินทางกลับมาเมื่อเดือนพฤษภาคมปีต่อมา

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ ออกเยี่ยมเยียนคนในชุมชนบ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

หมวดปิ่น(ยศในขณะนั้น)เคยเล่าให้ฟังว่า “ตอนที่ผู้กองแคนเสียแรกๆ เขายังฝึกอยู่ ยังไม่ได้ลงมาในพื้นที่ เมื่อฝึกจบกำลังกินเลี้ยงกัน มีครูฝึกคนหนึ่งเมาแล้วมาคุยกับผมว่า หมวดนี่เหมือนกับผู้กองแคนเลยนะ เหล้าพุ่งออกจากปากผมเลย หลังจากพี่แคนเสีย ตอนผมลงมาพื้นที่ใหม่ๆ ชาวบ้านเห็นก็ตกใจ แล้วก็ชุบชิบกัน เขาก็บอก หมวดนี่หน้าเหมือนผู้กองแคนเลยนะ แต่ผมบอกกลับไปว่า ผมหล่อสู้พี่เขาไม่ได้หรอกครับ แต่จะพยายามรักษาชื่อเสียงของพลร่มให้อยู่ตลอดไป”

 

บททดสอบแรกที่ตำรวจ ทหารจากต่างพื้นที่ลงไปต้องเจอ คือ ทัศนคติด้านลบต่อเจ้าหน้าที่รัฐของชาวบ้าน หมวดปิ่นย้อนภาพวันที่ชาวบ้านกลางเริ่มกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเมื่อกลางปี 2551 ว่า แรกๆ ชาวบ้านหวาดระแวง เพราะส่วนใหญ่มีความรู้สึกทางลบต่อเจ้าหน้าที่ ไม่กลัวก็เกลียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

“เราต้องค่อยๆ ลดความกลัว ลดความเกลียด ทำให้เขารัก เริ่มจากศูนย์ดีกว่าติดลบ แล้วค่อยสร้างต้นทุนเพิ่ม เข้าทางเด็ก คนแก่ คนป่วย ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ เช่นซ่อมบ้าน หางบทำมัสยิด ทำตามกำลังที่เรามี แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้น ชาวบ้านก็จะเริ่มแจ้งข่าว แสดงให้เห็นว่า เขาเชื่อใจเรามากขึ้น”

“แต่ก่อนเรายกมือไหว้เขา เขาไม่ไหว้กลับเลย เพราะมุสลิมจะใช้การ “สลาม” ยิ่งเราไปวางท่าเป็นเจ้าหน้าที่ยิ่งไม่มีใครชอบ ต้องทำตัวเหมือนลูกหลาน มีพี่คนหนึ่งเคยสอนผมว่า งานมวลชนไม่ต้องนิยามอะไรมากมายทำให้ชาวบ้านรักก็พอ ผมถามต่อว่าต้องทำยังไง คำตอบคือทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ทำให้ชาวบ้านเกลียด เราก็คิดดูว่าเราไม่ชอบให้เขาทำอย่างไหนกับเรา เราก็อย่าทำอย่างนั้นกับเขา”

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) มอบสิ่งของที่ได้รับบริจาคให้กับคนในชุมชน ที่บ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

แม้หมวดปิ่นจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเพียง 3 ปี แต่เขาก็มองทะลุว่าในสงครามแย่งชิงมวลชน การจะได้รับชัยชนะไม่สามารถใช้ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2 ปี 4 ปี หรือ 6 ปี แต่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วอายุคน ต้องเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นหนึ่งให้ได้ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปสานต่อ ถึงจะเรียกว่าชัยชนะที่แท้จริง การที่เจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในพื้นที่ไม่กี่ปี หากไม่ปลูกฝังอุดมการณ์ให้เติบโต ฝ่ายตรงข้ามก็จะกลับมาแย่งชิงมวลชนได้เหมือนเดิม

 

ขณะนั้นผู้หมวดปิ่นมีวัยเพียง 26 ปี แต่ก็เข้าใจดีถึงสัจจธรรมของกระแสผู้กองแคน และหมวดตี้ ว่าจะโหมกระพือสักพัก แล้วก็ค่อยๆ ดับมอดลงตามกาลเวลา กระนั้นเขาก็ยังมีความรู้สึกดีๆ ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

“ยังมีคนดีๆ มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย เพียงแต่ภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ที่สื่อเสนอภาพออกไปสู่สายตาประชาชน เป็นภาพด้านเดียว สื่อเลือกเฉพาะด้านที่น่ากลัว แม้ส่วนหนึ่งจะน่ากลัว แต่ไม่ถึงขนาดอยู่ไม่ได้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นแค่คนส่วนน้อยของประชากรทั้งหมด มุสลิมดีๆ มีมาก คนใต้ไม่ได้น่ากลัว พื้นฐานจิตใจก็ค่อนข้างดี”

 

แม้ฐานปฏิบัติการอื่นจะถูกซุ่มโจมตีจนเกิดความสูญเสียต่อพลร่มค่ายนเรศวรทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้องแล้วหลายคนแต่สำหรับฐานปฎิบัติการบ้านกลาง หมวดปิ่น เคยสูญเสียลูกน้อง ส.ต.ต.ชิษณุพงศ์ หลามจันทึก จากเหตุระเบิดคาร์บอมบ์กลางตลาดอำเภอเมือง ยะลา ขณะออกไปซื้อเสบียง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 โดยมีลูกน้องได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 2 นาย

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) กับผู้เขียน คุณ ตวงพร อัศววิไล

 

เมื่อถามถึงงานหลักในความรับผิดชอบ คำจำกัดความสั้นๆ คือ “ทุกอย่างทำอย่างไรก็ได้ให้ปลอดภัย ปกป้องตัวเองให้ได้ก่อน ถ้ามีเหตุปะทะต้องสู้ให้ได้ ถ้าเราเจ็บมันต้องเจ็บด้วย ถ้าเราตายมันต้องตายด้วย เมื่อปกป้องตัวเองได้ชาวบ้านจึงจะมีศรัทธาว่า เราสามารถปกป้องเขาได้”

 

ในฐานะพลร่มค่ายนเรศวร สิ่งที่เขาตั้งใจคือการทำวันนี้ให้ดีที่สุด เมื่อย้อนกลับมานึกถึง จะได้ไม่เสียใจกับวันเวลาที่ผ่านไป

“ผมไม่ค่อยคาดหวังกับอนาคต แต่จะทำทุกวันให้เต็มที่ มีความสุขกับทุกวัน ไม่ใช่อายุ 60 ปีแล้ว มานั่งเสียดายเมื่อมองย้อนหลังกลับไปว่า ใช้ชีวิตไม่คุ้มค่า ไม่ได้ทำอะไรดีๆ ยศอาจจะไม่ต้องใหญ่ก็ได้ แต่เรามองกลับมา ลูกน้องรักเราเพียบเลย ชาวบ้านมีความสุขกับเรา ยศถาบรรดาศักดิ์ บ้านช่องเอาไปไม่ได้หรอกครับ คนเราสุดท้ายมันต้องการพื้นที่แค่กว้างศอก ยาววา อย่างพี่แคนจะเลือกที่ดีๆ สบายๆก็ได้ แต่พี่เขาเลือกที่นี่ พอพี่แคนเสียชีวิต ก็ปลุกกระแสให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ได้รับการเหลียวแล ซึ่งคนข้างบนต่อให้ยศพลเอกยังทำไม่ได้เลย “

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) มีความสุขในการสอนหนังสือและเล่านิทานให้กับเด็กๆ ในชุมชน ที่บ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

รีคอน “นักรบ 3 มิติ” น้ำ ฟ้า ฝั่ง


 

ทุกครั้งที่พูดถึงผู้กองแคน หมวดปิ่นจะออกตัวเสมอว่าเก่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรุ่นพี่ ตัวเขาก็คือตัวเขา ไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร แต่เมื่อถึงเวลาเหมาะสมสิ่งหนึ่งที่ผู้กองปิ่นเลือกที่จะเดินในเส้นทางเดียวกับผู้กองแคนคือการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษ แขนงการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจมนาวิกโยธิน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อหลักสูตร “รีคอน” (RECON) ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรที่เข้มข้ม ยากลำบากไม่น้อยไปกว่าหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบ

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) ระหว่างการฝึก Recon รุ่น 41

 

หลักสูตรรีคอน เป็นหลักสูตรของกองทัพเรือ จะรับสมัคร ตำรวจ ทหารบก ทหารอากาศ เหล่าละ 5 อัตรา ส่วนทหารเรือจะได้โควต้าฝึกมากที่สุด หลักสูตรรีคอนใช้ระยะเวลาการฝึก 3 เดือนแบ่งเป็น 3 ภาค

 

เดือนแรกภาคที่ตั้งปกติ เน้นวิชาการ ฝึกเตรียมร่างกายอย่างหนัก ทานวันละมื้อ นอน2 ชั่วโมงต่อวันเป็นการเตรียมพร้อมความแข็งแกร่งของร่างกาย เช่น การแบกเรือ สำรวจชายหาด

 

เดือนที่สองเป็นการฝึกภาคทะเล ใช้ชีวิตตลอด 1 เดือนอยู่บนเรือ ต้องผ่านการทดสอบว่ายน้ำที่หาดสมิหลาประมาณ 5 ไมล์ ท่ามกลางคลื่นลมแรง ฝึกที่หมู่เกาะอ่างทอง เกาะหินแตก หาปูหาปลาเพื่อประทังชีวิต ท่ามกลางแรงกดดันจากครูฝึกอย่างหนัก เป็นการฝึกเพื่อให้ลืมตาย ไม่ปฏิเสธภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

 

เดือนสุดท้ายเป็นการฝึกภาคป่า ต้องดำรงชีวิตอยู่ในป่าให้ได้ด้วยอุปกรณ์จำกัด แม้แต่เสื้อผ้าก็ต้องใช้ใบใบหญ้าเพื่อปกปิดร่างกาย

 

ร.ต.ท.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) ระหว่างการฝึก Recon รุ่น 41

 

บทลงโทษจากครูฝึกก็เป็นเรื่องเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ถ้านักเรียนผู้ฝึกได้รับบาดเจ็บ อาจถูกครูฝึกลงโทษด้วยการราดน้ำปลาพริกบนบาดแผล วิธีรักษาตัวเอง คือใช้ผ้าอนามัยทายาฆ่าเชื้อโปะไว้ที่บาดแผล ป้องกันการติดเชื้อ อีกบทลงโทษหนึ่งที่โหดไม่แพ้กันคือ การลากรถเจ๊กวิธีการคือ ต้องถอดกางเกงออก แล้วถูกลากไปบนพื้นซีเมนต์ วิธีรักษาตัวก็เหมือนเดิม แล้วตั้งหน้าตั้งตาฝึกหนักต่อไป

 

ช่วงการฝึก 2 สัปดาห์สุดท้ายเป็นช่วงการฝึกที่หนักหน่วงที่สุด เป็นการปฎิบัติตามสถานการณ์สมมติ ต้องอาศัยความรู้ในการเดินป่า การดำรงชีพในป่า การโจมตี การลาดตระเวนที่ได้ฝึกมาทั้งหมด เพราะหน่วยรบรีคอนถูกกำหนดให้เข้าพื้นที่ข้าศึกเป็นหน่วยแรก นักรบรีคอนจึงต้องฝึกการส่งกำลังทางอากาศ ปฎิบัติการแบบฉับพลันทางทะเล นักรบรีคอนทุกคนจะถูกฝึกฝนให้เชี่ยวชาญการรบทั้งผืนน้ำ บนฟ้าและชายฝั่ง จนได้รับฉายาว่่า “นักรบ 3 มิติ” หรือ “น้ำฟ้าฝั่ง”

 

ผู้กองปิ่นได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรรีคอน รุ่น 41 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยเขาเชื่อว่าสิ่งที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจตลอด 3 เดือนจะเป็นประโยชน์ต่องานราชการภาคสนาม

 

ร.ต.อ.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) ได้รับโล่  ”ภาวะผู้นำยอดเยี่ยม” หลักสูตร Recon รุ่น 41

 

อนาคตในชีวิตราชการของผู้กองปิ่นก้าวหน้าตามลำดับอย่างรวดเร็ว การรับราชการภาคสนามในพื้นที่จังหวัดายแดนภาคใต้กว่า 3 ปี ทำให้เขาได้นับอายุราชการแบบทวีคูณ เพิ่งผ่านการอบรมหลักสูตรสารวัตรไปเมื่อกลางปี 2555 จากนั้นในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันได้รับเลือกให้เเป็นนายตำรวจอารักขา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แม้จะได้รับการชักชวนจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายการเมืองให้ลาออกจากค่ายนเรศวร แต่สารวัตรปิ่นปฏิเสธ

 

ตำรวจพลร่ม นเรศวร 261 “ตายเสียดีกว่า ที่จะละทิ้งหน้าที่”


 

นเรศวร 261 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความสามารถในการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฎิบัติการพิเศษเพื่อต่อสู้ภัยคุกคามทางทหาร และไม่ใข่ทหาร ในการปฎิบัติการพิเศษ แก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ การก่อการร้ายทุกรูปแบบ ด้วยวิธีปฏิบัติแบบปกปิด รับผิดชอบปฏิบัติการทั่วประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 หลังยุคปีค.ศ. 1970 ที่โลกเผชิญกับสงครามเย็น ด้วยเหตุการจับตัวประกัน การก่อวินาศกรรม และการลอบสังหาร

 

นเรศวร 261 เริ่มการฝึกครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2526 ที่กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

ค่ายนเรศวร อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

ความหมายของ นเรศวร 261 มีที่มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้เป็นนักรบ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นนามค่ายที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษนี้ว่า “นเรศวร” ส่วนเลข 261 มีที่มาจากการฝึกครั้งแรกในปี 2526 รุ่น 1 มาจากรุ่นแรกที่ทำการฝึก โดยยังคงใช้เลขประจำหน่วยนี้ตลอดมาเพราะเป็นเลขมงคลรวมกันแล้วได้ 9

 

กองร้อยปฎิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 ยังมีภารกิจการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การก่อการร้ายในเมืองทุกรูปแบบ และยังมีภารกิจถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศาษานุวงศ์ รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบกับความมั่นคงของชาติ

 

ร.ต.อ.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) ฝึกซ้อมยิงปืนได้อย่างมีความแม่นยำ ขณะปฏิบัติหน้าที่นายทหารเสริมกำลังพิเศษ

 

ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือไม่ หากมองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กชายปิ่นทัพ ปุราเท เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2526 เป็นปีเดียวกับการก่อตั้ง นเรศวร 261 หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 59 เขาก็เลือกลงสังกัดกองร้อยรบพิเศษ 4 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหนึ่งในพลร่มนเรศวร 261 อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ในหนังสือรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 59 นรต.ปิ่นทัพ เขียนถึงคติประจำตัวที่ยึดถือว่า “ถ้าจะชน ต้องชนให้ขาด”

 

“การทำงานเป็นตำรวจพลร่ม ได้ทำงานทั้ง 2 รูปแบบ คือได้ช่วยเหลือประชาชน และได้ปะทะรุก-รับ แบบทหาร ทั้งยังได้ทำงานท่ามกลางท้องทะเล และผืนป่าซึ่งเป็นธรรมชาติที่เขารัก”

 

ร.ต.อ.ปิ่นทัพ (ยศในขณะนั้น) ระหว่างการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกโดดร่มทบทวนแบบกระตุกเอง

 

ภารกิจสุดท้ายของสารวัตรปิ่นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 คือการฝึกทบทวนกระโดดร่มดิ่งพสุธาประจำปี 2556 ซึ่งเป็นการฝึกตามวงรอบของหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่กับพลร่มค่ายนเรศวรอีกครั้ง

 

คำพูดของปิ่นดังก้องขึ้นมาในความทรงจำว่า “ไม่เคยคิดถึงวันที่พลาด ถ้าพลาดก็คือพลาด ไม่เสียดาย ถ้าจะเสียดายอยู่บ้างก็คงเสียดายปัจจุบันที่มัวแต่กลัวอยู่แล้วไม่ทำอะไร ผมมีความสุขที่อยู่ตรงนี้ ใช้ชีวิตคุ้มค่า เกิดอะไรขึ้นวันข้างหน้า ผมไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ คนจะตาย อยู่ที่ไหนก็ตาย คนไม่ตาย อยู่ที่ไหนก็ไม่ตาย”

 

ที่ค่ายนเรศวรมีข้อความเตือนใจเหล่านักรบแห่งค่ายนเรศวร เขียนเอาไว้ว่า

 

“ตายเสียดีกว่าที่จะละทิ้งหน้าที่”
“ตายในสนามรบเป็นเกียรติของค่ายนเรศวร”

 

ภารกิจของ ร.ต.อ.ปิ่นทัพ ปุราเท เสร็จสิ้นลงไปแล้ว หลายคนอาจเห็นว่าชีวิตของสารวัตรปิ่นทัพสั้นเกินไป แต่น้อยคนที่จะคิดหรือเห็นว่าเขาได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย และประเทศไทยที่เขารักอย่างเต็มภาคภูมิ

 

ตวงพร อัศววิไล
15 มกราคม 2556