ประวัติทหารเสริมกำลังพิเศษ

  • เมษายน 7, 2013

ประวัติทหารเสริมกำลังพิเศษ


 

ในราวปี พ.ศ.๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่ของราษฎรในภูมิภาคต่างๆอยู่เสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับพระราชทานพระราชดำริ หรือโครงการ ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของพสกนิกรให้ดีขึ้น แต่ละท้องที่ถิ่นทุรกันดาร ล้วนเสี่ยงภัยอันตรายเกือบทั้งสิ้น

 

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้นายทหารที่มีประวัติการรบจากสงครามเวียดนาม และการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญกล้าหาญและเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น ๑ เข้ามาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามเสด็จไปปฏิบัติงานถวาย ทั้งในหน้าที่การถวายความปลอดภัย และการแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ในพื้นที่ หรือในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๑๕ ในคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เป็นต้นมา

 

เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นเกิดความวุ่นวาย และเกิดปัญหาหลายด้าน อันกระทบต่อความมั่นคง เช่น ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และการต่อต้านรัฐบาลของเหล่านิสิต นักศึกษา ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ประชาชน และนิสิต นักศึกษาจำนวนมาก ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลในยุคนั้น โดยใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่ทำการ จึงถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้อยู่แต่ภายใน มธ. จนเกิดความกดดัน มีฝูงคนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนได้เดินขบวนมายังพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยเหลือ จนทำให้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตามเส้นทางเรื่อยมา แต่ไม่สามารถยับยั้งกลุ่มฝูงชนเหล่านั้นได้ เสียงคนล้อมวังดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณพระตำหนักฯ

 

เวลานั้นผู้ที่ถวายอารักขาและกำลังทหารในการรักษาความปลอดภัยมีจำนวนน้อยมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเรียก ทหารที่มีผลการรบดีเด่น (ได้รับเหรียญรามา) เช่นพ.ท.ณรงค์เดช, พ.อ.ยิ่งยศ, พล.ท.กสิน, พ.อ.วุฒิ และทหารที่ทรงคุ้นเคย (ทหารมหาดเล็ก) เข้ามาถวายงานเพิ่มเติม และทรงพระราชทานนามว่า “นายทหารเสริมกำลังพิเศษ” หน่วยจึงได้ยึดถือเอาปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นปีก่อตั้งหน่วยขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ต้องการให้ทหารที่รักษาวังใช้ความรุนแรงกับประชาชน นั่นคือทรงให้ทหารถอดซองกระสุนออกจากตัวปืน จนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลงในเวลาต่อมา

 

การปฏิบัติงานของนายทหารเสริมกำลังพิเศษในขณะนั้น จะเป็นการปฏิบัติงานตามที่พระองค์รับสั่งโดยทรงให้ปฏิบัติงานเสริมให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในระยะแรกยังไม่มีการก่อตั้งหน่วยงานที่ชัดเจนนัก ต่อมาพระองค์ทรงให้ กรมราชองครักษ์เข้ามาดูแล จึงทำให้หน่วยงานทหารเสริมฯ ได้ก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ

 

ปัจจุบันนี้นายทหารเสริมกำลังพิเศษก็ยังคงร่วมปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้หมุนเวียนผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่จากทุกกองทัพภาค เพื่อเป็นการศึกษา ดูงาน และทำความคุ้นเคยพื้นที่ ตลอดจนให้ผู้ที่มีประสบการณ์ถ่ายทอดและเพิ่มเติมความรู้ความสามารถให้ โดยจัดจากบุคคล ๔ กลุ่ม ดังนี้

 

๑. บุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เช่น นายทหารเสริมฯ ผู้ใหญ่
๒. นายทหารเสริมฯ ประจำ (จัดประจำสวนจิตรลดา ๖ นาย)
๒.๑ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ จำนวน ๓ นาย
๒.๒ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๑ รักษาพระองค์ จำนวน ๑ นาย
๒.๓ กองทัพภาคที่๒ (คนละ ๒ ปี หรือตามพระราชประสงค์) จำนวน ๒ นาย
๓. จัดจากกองทัพภาคต่างๆ, ตำรวจตระเวนชายแดน, หน่วยนาวิกโยธิน หรือหน่วยอื่นๆ (ตามการจัดสรร)
๔. จัดจากกำลังพลภายในกรมราชองครักษ์
หมายเหตุอาจมีการรับสั่งเพิ่มถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้มาถวายงานเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว

 

วิธีการจัด

 
นายทหารเสริมกำลังพิเศษ (ผู้ใหญ่) ซึ่งเป็นผู้แทนในแต่ละกองทัพภาค ประสานไปยังผู้บังคับบัญชาของหน่วยต่างๆ ในแต่ละกองทัพภาค เพื่อคัดสรรกำลังพลที่มีความเหมาะสมในทุกด้าน แล้วส่งรายชื่อให้กับกรมราชองครักษ์ โดยมีพล.ร.อ.วีระศักดิ์ อ๊อกกังวาล ร.น. หน.นายทหารเสริมกำลังพิเศษเป็นผู้พิจารณา
จำนวนการจัดกำลังของหน่วยงานนายทหารเสริมฯ ในแต่ละผลัดจะมีจำนวนต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับพระราชกรณียกิจ ในกรณีเสด็จฯ ต่างจังหวัดจะทรงให้เรียกกำลังพลเข้ามาถวายงานในจำนวนที่มากขึ้น ในทางปฏิบัติหน่วยจะพิจารณาให้สามารถจัดเป็นชุดปฏิบัติการให้ได้ ๓ ชุด ชุดละ ๗ นาย รวม ๒๑ นาย ที่เหลือจากนั้นจะเป็นนายทหารเสริมฯ ผู้ใหญ่ ซึ่งต้องรับผิดชอบในเรื่องการบังคับบัญชา หรืออาจจะเรียกตามจำนวนที่ทรงมีพระราชประสงค์ แต่จะมียอดรวมโดยประมาณไม่เกิน ๓๕ นาย ในกรณีประทับที่วังไกลกังวลทั้ง ๒ พระองค์ จะจัดกำลังพลประมาณ ๒๐ นาย, ประทับ ๑ พระองค์ จัด ๗ นาย

 

การปฏิบัติงานในวงรอบ ๒๔ ชั่วโมง

 

๑. ๑ ชุดปฏิบัติการ (๗ นาย) เข้าเวรพระตำหนักฯ

๒. ๑ ชุดปฏิบัติการ ไปที่หมายล่วงหน้า

๓. ๑ ชุดปฏิบัติการ ไปในขบวน เป็นรถนำ และ รถตาม

 

หน้าที่ของนายทหารเสริมกำลังพิเศษ
 
๑. ถวายอารักขาวงรอบชั้นใน
๒. เข้าเวรถวายความปลอดภัย ณ พระตำหนักฯ
๓. ช่วยงานหน่วยงานต่างๆ เช่น กรส., กรมวัง, มหาดเล็ก ฯลฯ เมื่อจำเป็น
๔. การปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ เช่น ขับร้องเพลงหมู่ ซ้อมการแสดง ฯลฯ

 

 

ร.ต.อ. ปิ่นทัพ ปุราเท ขณะฝึกเพื่อปฏิบัติงานทหารเสริมกำลังพิเศษ

 

ร.ต.อ. ปิ่นทัพ ปุราเท ขณะฝึกเพื่อปฏิบัติงานทหารเสริมกำลังพิเศษ
 
 
 
ร.ต.อ. ปิ่นทัพ ปุราเท ขณะฝึกเพื่อปฏิบัติงานทหารเสริมกำลังพิเศษ
 
 
 
ร.ต.อ. ปิ่นทัพ ปุราเท ขณะฝึกเพื่อปฏิบัติงานทหารเสริมกำลังพิเศษ