ประวัติหน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261

  • เมษายน 7, 2013

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261


 

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2526 ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องนโยบายหลักและแนวความคิดในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ลง 1 ก.พ. 2526 ต่อจากนั้น ตร. ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการเปิดการฝึกอบรมหน่วยปฏิบัติการพิเศษและให้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ” นเรศวร 261 ” ขึ้นในปี 2527 ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษในสังกัดกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน

ต่อมาปลายปี 2529 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนราชการระดับ กองร้อย ในอัตราการจัดของกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน คือ กองร้อยที่ 4 กก.สอ.ตชด. และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ กก.สอ.ตชด. ขยายหน่วยงานเป็นกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศฯ และ กองร้อยที่ 4ฯ ขยายเป็น กก.3 บก.สอ.ตชด. ดังนั้นหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 จึงขยายหน่วยเป็นระดับ กองกำกับการ

 

การคัดเลือกและการฝึก

การคัดเลือกกำลังพลเข้ารับการฝึกคัดเลือกจากกำลังของตำรวจพลร่มที่ผ่านการฝึกหลักสูตรรบพิเศษ การโดดร่มมาแล้วและปฏิบัติงานในกองร้อยรบพิเศษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และนำมาตรวจร่างกาย ทดสอบด้านจิตวิทยา และเชาว์ปัญญา การทดสอบร่างกายเมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะเข้ารับการฝึกหลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย

เมื่อสำเร็จหลักสูตรจะบรรจุในหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี , การฝึกพลแม่นปืน , การปฏิบัติการทางน้ำ ,การต่อสู้ป้องกันตัว , การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา

อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่าง ๆ ของต่างประเทศและนำวิชา ความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพล ที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ

 

1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่

2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์

3. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง ” พลเก็บกู้ทำลายระเบิด ”

4. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง ” พลซุ่มยิง ”

5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง ” ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ ”

 

นอกจากนี้ยังมีการฝึกร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพ ในการเตรียมความพร้อม การต่อต้านการก่อการร้ายสากล และการฝึกร่วมกับมิตรประเทศทั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศออสเตรเลีย และประเทศเยอรมนี