รุ่นน้องของ ฮีโร่

  • เมษายน 15, 2013

รุ่นน้องของ ฮีโร่

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

Life Style

วันที่ 10 มีนาคม 2552

 

แค่ชื่อ ปิ่นทัพ ก็สอดรับกับภารกิจ สำหรับชาวบ้านในดินแดนปลายด้ามขวาน ผู้หมวดนายนี้ มีความหมายกว่านั้น ที่สำคัญ มีคนบอกว่าเขาเหมือนผู้กองแคน

เสียงเครื่องยนต์ขนาด 150 ซีซีแผดก้องมาตามทางคดเคี้ยวที่ถูกแนวสีเขียวของผืนป่าปกคลุมอยู่จนแทบมองไม่ออก แม้จะเป็นทางโค้งขึ้นเนิน แต่มอเตอร์ไซค์คันนั้นก็ไม่ได้มีทีท่าจะผ่อนความเร็วลง คนขับคอยกวาดสายตาดูถนนที่อยู่ตรงหน้า ขณะที่คนซ้อนกระชับปืนเตรียมพร้อมระวังการ ‘ซุ่มยิง’ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ภารกิจลาดตระเวน ‘รอบนอก’ ตัวเมือง หรือ ‘รอยต่อ’ ระหว่างหมู่บ้านของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้แทบทั้งสิ้น ตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์สะพายเอ็ม 16 ถือเป็นฟอร์มปกติ หรือไม่บนถนนบางสายอาจได้เห็นรถบางคันปาดหน้าฮัมวี่

“ก็อาชีพเราน่ะครับ”

คำพูดนั้นอธิบายถึงภาพแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่นให้เปรียบเทียบ ระหว่างนั่งทำงานในตรอกขนาดกว้างคูณยาวไม่ถึงเมตร กับ ทุกตารางเมตรของหมู่บ้านในหุบเขาที่กินรัศมีไม่ต่ำกว่า 10 กิโล

แลบท็อปขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกระดาษเอ 4 ที่ใครหลายคนบ่นว่าหนักในชุดยูนิฟอร์มภูมิฐาน กับ ปืนยาว ปืนพก และอุปกรณ์อีกนานาชนิดบนเสื้อเกราะกันกระสุน (อย่าคิดน้ำหนักรวมให้รู้สึกหนักเลย)

เข้างาน 8 โมงครึ่ง เลิกงาน 5 โมงเย็น กับ ไม่รู้ว่า ‘งานจะเข้า’ ตอนไหน

สำหรับอาชีพอื่น ทำงานผิดพลาด อย่างมากคือโดนไล่ออก แต่สำหรับพวกเขา ถ้าพลาด หมายถึงจบชีวิต

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) ประชุมหารือเรื่องการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
กับ พลตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา หรือ จ่าเพียร

 

และอีกหลายๆ ข้อเปรียบเทียบ ที่เพียงเพราะอยากเห็น ‘ไฟใต้ดับ’ จึงยอมลงมาตรากตรำลำบากอยู่กลางป่ากลางดงนานนับปี ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะ ‘ตำรวจ’ ในความรู้สึกของเขา แต่ยังหมายถึง ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ทุกคนที่เสียสละตัวเองลงมาอยู่ในพื้นที่

“ทุกหน่วยงานที่อยู่ที่นี่ ต่างช่วยกันเต็มที่” ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท ผู้บังคับหมวดกองร้อย รบพิเศษ 4 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร ยืนยันหนักแน่นทุกครั้งเมื่อมีใครถามถึงบทบาทของการทำงานระหว่าง ‘ตำรวจ’ กับ ‘ทหาร’ หรือเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) แจกของที่ได้รับบริจาคให้กับเด็กๆ

ในงานมวลชนสัมพันธ์ 

 

อยู่ให้รัก 

หากลองไล่สายตาจากโรงจอดรถริมถนนสายหลักของหมู่บ้านไปจดยอดเนินตะปุ่มตะป่ำ ก็จะเห็นกองบัญชาการขนาดย่อมของค่ายเนศวร ได้ไม่ยาก พวกเขามาตั้งฐานอยู่ที่นี่ได้เกือบ 1 ปีแล้ว เพื่อคอยดูแลชาวบ้านกลางราว 70 หลังคาเรือนใน ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา พื้นที่ ‘แดงจัด’ อีกแห่ง ซึ่งช่วงที่เกิดความรุนแรงเมื่อปี 2550 นั้นชาวบ้านแห่งนี้ได้อพยพออกจากหมู่บ้านไป ก่อนจะทยอยเดินทางกลับเข้ามาราวเดือนพฤษภาคม 2551 และชาวบ้านได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยดูแลหมู่บ้าน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุ ตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรจึงได้รับมอบหมายให้มาประจำการเพื่อดูแลความเรียบร้อยอยู่ที่นี่

“พลร่มที่นี่มี 2 กองร้อย คือ รบพิเศษ 4 และรบพิเศษ 2 โดยมีกองกำกับ 1 มาดูแลอีกที รบพิเศษ 4 ดูแล บ้านตาเอียด ต.ตลิ่งชัน แต่ละฐานตั้งขึ้นตามความเหมาะสมของพื้นที่ หมู่ 5 บ้านตาเอียด มี 2 ฐานคือ ที่บ้านตาเอียด และบ้านกลาง โดยยึดหลักตามภูมิประเทศเป็นหลัก” หมวดปิ่นเล่า

งานหลักในความรับผิดชอบของหน่วยถูกนิยามขึ้นง่ายๆ ว่า “ทุกอย่าง…ทำยังไงก็ได้ให้ปลอดภัย”

“ปกป้องตัวเองให้ได้ก่อน ถ้ามีเหตุปะทะต้องสู้ได้ ถ้าเราเจ็บมันเจ็บด้วย ถ้าเราตายมันต้องตายด้วย เมื่อปกป้องตัวเองได้ ชาวบ้านถึงจะมีศรัทธาว่าปกป้องเขาได้” 

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) ฝึกความพร้อมในการรบให้กับหน่วยงาน

ขณะปฏิบัติงานที่ ที่ชุมชนบ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

ถึงจะดูเป็นคำจำกัดความที่ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่เนื้อหาสาระในความหมายนั้นทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่ายากแค่ไหน เพราะถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ใครเข้มแข็งกว่าก็ต้องไปอยู่ฝ่ายนั้น ดังนั้นการเข้าถึงหัวใจของชาวบ้านให้ได้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด

“เราจึงต้องเข้มแข็งกว่า และข่าวสารดี” ความรู้สึกของเขาเป็นแบบนั้น

“ข่าวสารดี ไม่ใช่ได้จากหนังสือพิมพ์ ต้องได้จากชาวบ้าน เพราะเขารู้พื้นที่ รู้คน รู้เส้นทาง ถามว่าเขาจะยอมบอกเราไหม เพราะถ้าเขาบอกไปถ้าเราไม่เข้มแข็งจริงเขาก็จะถูกทำร้าย ดังนั้นเราต้องทำให้เขารักด้วย ต้องพัฒนา ดูแลความเป็นอยู่เขา ถ้าเขารักแล้วก็คงไม่อยากให้คนที่รักเป็นอันตราย เขาก็จะมาบอกเรา จากที่เราไม่เคยรู้เลย ก็จะรู้เพิ่มขึ้น รู้ว่าโจรจะมาจะพักที่นี่ จะทำการอะไรบ้าง บางทีเขารู้แต่เขาไม่กล้าบอก ถ้าเขากล้าบอกเราก็สามารถวางแผนได้ กลับกันถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เดินสุ่มไปวันๆ ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา”

หมวดปิ่นยอมรับว่ากว่าจะได้รับความร่วมมือ พวกเขาต้องผ่านบททดสอบมากมาย ทั้งนิสัยใจคอ ทั้งความประพฤติ ทั้งความจริงใจ

“ตอนที่ชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางกลับมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ตอนนั้นแค่เห็นเจ้าหน้าที่นะ เด็กร้องไห้ วิ่งหนีเข้าบ้านเลย พ่อแม่นี่ไม่คุยเลย เรามาแรกๆ ก็ทำงาน งานมวลชน เรามีอะไรก็ช่วยเขา ซ่อมบ้าน หางบทำมัสยิดให้ ช่วยสร้างโน่นนี่ ทำตามกำลังของเราเท่าที่มี  แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้น พอเริ่มสนิทมากขึ้น ก็มีมาแจ้งข่าว แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อใจมากขึ้น เมื่อก่อนนี้บอกว่า ตาฮีตี้ (ไม่รู้เรื่อง) อย่างเดียว คือ จบแล้ว สื่อสารกันไม่ได้แล้ว เขาไม่บอกอะไรเราเลย ไม่คบ ไม่สุงสิง บางทีเขาพูดไทยได้ แต่เขาไม่พูดเราก็ทำอะไรไม่ได้”

อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านแสดงออกว่าเริ่มเปิดใจกับเจ้าหน้าที่ คือ การรับไหว้จากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการยอมให้มีสุนัขลงไปเดินเพ่นพ่านกลางหมู่บ้านบ้างในบางโอกาส

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) ร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้าน

ในชุมชนบ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

“แต่ก่อนเรายกมือไหว้เขา เขาจะไม่ไหว้กลับเลย เพราะมุสลิมเขาจะใช้การ สลาม (กล่าวทักทาย – สงบ) ยิ่งเราไปวางท่าใส่เขาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ก็คงไม่มีใครชอบ ต้องทำตัวให้เหมือนลูกหลาน มีพี่คนหนึ่งเคยสอนผมว่า งานมวลชนไม่ต้องนิยามอะไรมากมาย ทำให้รัก ผมก็ถาม แล้วทำยังไง ทำยังไงก็ได้ที่ไม่ทำให้เขาเกลียด (หัวเราะ) เราก็ต้องคิดดูว่าเราไม่ชอบให้เขาทำอย่างไหนกับเรา เราก็ไม่ทำอย่างนั้นกับเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นแหละ จนเดี๋ยวนี้ไหว้กลับแล้ว ฐานของเราก็เหมือนกัน เราตั้งฐานอยู่เหนือ กุโบร์ (สุสาน) แล้วมุสลิมกับหมาไม่ถูกกัน ทำไมหมาอยู่ได้ เขาไม่

“ไม่โวยวาย ไม่ประท้วง ทางขึ้นมา เราก็ทำทางเลี่ยงให้เขาอีกทางหนึ่ง หมาก็กันไว้ข้างบนอย่าให้ไปยุ่ง ถามเขาก่อนว่าทำอย่างนี้ได้ไหม ถ้าได้เราถึงทำ สวนยางข้างบนก็เป็นที่ตัดยางของเขามาก่อน เราก็ต้องถามเขาก่อนว่า แบ (พี่) ขอใช้พื้นที่ได้ไหม บางพื้นที่ต้องเช่าก็มี (ยิ้ม) อยู่ที่นี่เราสนิทกับเขาสักพักหนึ่งแล้วต้องขยายฐาน ก็ขอเขา เขาก็ได้เลย จอบเสียมไม่พอก็มาช่วย สวนยางยกให้ตำรวจเลย เราก็ตัดเก็บขี้ยางช่วยค่าอาหาร มีอะไรแบ่งเขาบ้าง มีผลนะครับ”

ไปให้คิดถึง 

“ฐานนี้หมวดเขาเป็นคนบุกเบิก” ใครบางคนแอบกระซิบ ขณะที่หลายๆ คนกำลังสนุกกับการเล่นเกมชิงรางวัลที่ได้รับมอบมาจาก โครงการไทยสันติสุขครั้งที่ 2

หลังจากปล่อยให้ต่างคนต่างถลอกปอกเปิกกันพอหอมปากหอมคอ ในฐานะครูฝึกคนหนึ่งในค่าย เขาจึงได้อธิบาย ‘ทริค’ ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจจังหวะจะโคนในการเวลางาน และนอกเวลางานที่ค่อนข้างสมดุลกันเป็นอย่างดี หลายเสียงถึงกับออกปากยืนยันว่า นายตำรวจวัย 27 ปีคนนี้ ถอดแบบตำรวจ ‘น้ำดี’ รุ่นพี่ในวิถีทางและอุดมการณ์เพื่อรับใช้ประชาชนมาแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว

นอกจากนี้ หากลองหาเหลี่ยมดูดีๆ หลายความเห็นยังมองว่า ‘หมวดปิ่น’ ถอดแบบ ‘ผู้กองแคน (ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข)’ ออกมาชนิด ‘เป็นพิมพ์เดียวกัน’ อีกด้วย

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) สอนหนังสือให้กับเด็กๆ

ในชุมชนบ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

“ผมยังได้ไม่ถึงครึ่งของพี่เขาหรอกครับ” เจ้าตัวออกอาการเขินเมื่อถูกออกปากทัก

ถึงจะออกตัวว่าไม่เหมือน แต่หมวดปิ่นก็ยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นในค่ายฝึก หรือตอนลงมาในพื้นที่ ทั้งชาวบ้าน ทั้งครูฝึกที่เจอก็ออกอาการ ‘เหวอ’ ไปตามๆ กัน

“ตอนนั้นที่แกเสียใหม่ๆ ผมยังฝึกอยู่ ยังไม่ได้ลงมาที่นี่ ฝึกจบ กำลังกินเลี้ยงอยู่ มีครูฝึกอยู่คนหนึ่ง เมาแล้ว มาคุยกับผมบอกว่า หมวด หมวดนี่เหมือนผู้กองแคนเลยนะ เหล้าพุ่งออกจากปากเลย (หัวเราะ) คือ พี่แคนแกทำงานที่นี่ ช่วงแกกลับไปพักแกก็จะกลับไปที่ค่ายไปยิงปืน ตอนนั้นแกพยายามฝึกซุ้มยิงระยะไกลอยู่ ครูก็บอก ผู้กองบอกจะมาฝึกให้จบ นี่ยังไม่ได้มาฝึกต่อเลย ผมเสียดาย หมวดมานะ มาฝึกต่อ แล้วฐานตรงนี้ก็อยู่ติดกับพื้นที่ของผู้กองแคนเหมือนกัน เขาก็เดินมาโผล่แถวนี้แหละครับ บ้านกลาง และบ้านสายสุราษฏร์ ก็ไม่ไกล ประมาณ 3 กิโลก็ถึง ตอนมาใหม่ๆ ชาวบ้านเห็นก็มีตกใจ  บ้างก็ผงะ แล้วก็ซุบซิบๆ กัน เราก็ขำ เวลามานั่งคุยกันเขาก็บอก เออ หน้าเหมือนเนอะ ผมหล่อไม่สู้พี่เขาหรอกครับ แต่ก็จะพยายามรักษาชื่อเสียงของพลร่มให้คงอยู่ต่อไป”

เมื่อถูกอุปโลกน์ให้เป็นตัวแทนรุ่นพี่ แถมบวกภาษีพร้อมพระเดชพระคุณเท่าๆ กัน ย่อมต้องมองข้ามไปถึงความคาดหวังในอนาคตน่าจะประเดประดังเข้ามาแค่ไหน เขามองว่าถึงอย่างไร ตัวตนต้องชัดเจน

“กดดันไหม… ไม่หรอกครับ ผมไม่ใช่แก ผมก็คือผม อีกอย่างผมก็ไม่ใช่คนเก่งอะไร แกเก่งกว่าผมเยอะ แนวทางมันอาจจะคล้ายกัน เพราะพี่เขาเป็นตัวอย่างที่ดี มันก็ควรจะเดินตาม ใครเห็นพี่แคนจะรู้ว่า พี่เขาเป็นคนที่สามารถจูงใจคนรอบข้างให้มาทำงานด้วยอย่างมีความสุข”

เชื่อมโยงกับการทำงานในพื้นที่ เขาคิดว่ามันก็คืองานส่วนน้อยที่คนส่วนใหญ่ไม่เลือก สิ่งที่ตั้งใจมีแค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เมื่อย้อนกลับมานึกถึงแล้วจะได้ไม่เสียใจกับวันเวลาที่ผ่านไป

“เราไม่ค่อยได้คาดหวังกับอนาคตเท่าไหร่ คือ ทำทุกวัน มีความสุขกับทุกวัน ทำให้มันเต็มที่ ไม่ใช่ อายุ 60 แล้วมานั่งเสียดายเมื่อมองย้อนหลังว่าใช้ไม่คุ้มค่า ไม่ได้ทำอะไรดีๆ ยศอาจจะไม่ต้องใหญ่ก็ได้ แต่เรามองกลับมา โห ลูกน้องรักเราเพียบเลย ชาวบ้านแฮปปี้กับเรา ยศถาบ้านช่องเอาไปไม่ได้หรอกครับ คนเรา สุดท้ายมันก็เหลือแค่ กว้างศอก ยาววา อย่างพี่แคน จะเลือกที่ดีๆ สบายๆ ก็ได้ แต่แกเลือกที่นี่ พอแกเสียปุ๊ป กระแสของแกปลุกให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ ได้รับการเหลียวแล ซึ่งคนข้างบน ต่อให้ยศพลเอกก็ยังทำไม่ได้เลย”

 

ร.ต.ท. ปิ่นทัพ ปุราเท (ยศในขณะนั้น) ออกลาดตระเวณ

ในชุมชนบ้านกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

นั่นยังหมายถึงความเข้าใจของกระแส ‘ผู้กองแคน-หมวดตี้ (ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ)’ ที่โหมกระพือมาชั่วคราวแล้วก็ดับหมอดไปตามธรรมชาติมนุษย์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของเขาก็คือเรื่องความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังมีคนดีๆ ยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในพื้นที่อีกมากมาย

“ภาพ 3 จังหวัดที่ออกสู่สายตาประชาชนเป็นแค่ด้านเดียว เพราะสื่อก็สื่อเฉพาะด้านที่น่ากลัว ให้ข่าวดูหวือหวา ส่วนหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ มันไม่ปกติ ถ้าพูดกันตามตรง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็เป็นแค่ส่วนน้อยของประชากรทั้งหมด ส่วนน้อยของมุสลิม มุสลิมไม่ใช่โจร มุสลิมดีๆ มีมาก คนใต้ไม่ได้น่ากลัว พื้นฐานจิตใจก็ค่อนข้างดี” เขายืนยัน

เคยคิดถึงวันที่เราพลาดไหม

“ไม่คิดเลย แต่ถ้าพลาดก็พลาด ไม่เสียดาย ถ้าจะเสียดายอยู่ก็คงเสียดายปัจจุบันที่มัวแต่กลัวอยู่แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย วันนี้ที่ทำอยู่ทุกวัน ผมมีความสุขอยู่ตรงนี้ ผมแฮปปี้ ใช้ชีวิตคุ้มค่า ใช้ชีวิตแฮปปี้แล้ว เกิดอะไรขึ้นวันข้างหน้าผมไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอนะผมว่า คนจะตายอยู่ที่ไหนมันก็ตาย คนไม่ตายอยู่ที่ไหนก็ไม่ตาย”

น้ำเสียงและสายตาของเขาหมายความอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะยังไม่เคยเจอกับตัวเลยกล้าพูด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเกิดฝ่อตั้งแต่ไก่โห่ ก็คงแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

“เรายังไม่เคยปะทะ ถึงจะเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ก็ยังไม่เคยถูกซุ่ม หรือปะทะ เพราะว่า เราไม่ประมาท แต่ปะทะก็ดีเหมือนกันจะได้ไม่ต้องไปตามหา (ยิ้ม) ให้เขามาหา ปะทะก็ปะทะครับ ไม่ซีเรียส ถ้าโดนนัดแรกก็ถือว่ายอม แต่ถ้านัดแรกพลาดผมขอสวน ก็คิดอยู่แค่นั้น ผมเลยไม่กลัว  มีอะไรก็ขอให้มีเถอะ เราจะสู้ได้เต็มที่ ถ้าเรากลัวซะแล้ว ชาวบ้านมือเปล่าๆ ไม่ติดอาวุธเขาจะอยู่ได้ยังไง”

ที่สุดแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันจะไปสิ้นสุดลงตรงไหนหมวดปิ่นยอมรับว่าเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่เหมือนกัน

“เราคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แค่เรารู้ว่าปัจจุบันเราทำอย่างนี้ ถ้าสุดท้ายมันจะเป็นรัฐแยกขึ้นมา เอา เป็นก็เป็น จุดมุ่งหมายที่เราทำคือเรื่องความสงบสุขมากกว่า”

 

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ตัวเขาเชื่อว่า เจ้าหน้าที่จากหลายๆ ฝ่ายที่ยังทำงานอยู่ในพื้นที่นั้น จะไม่มีวันทอดทิ้งประชาชนอย่างเด็ดขาด

 

 

**ติดตามคลิปสัมภาษณ์ ร.ต.ท.ปิ่นทัพ ปุราเท ได้ใน www.bangkokbiznews.com (วันที่ 11 มีนาคม 2552)